• 039 312 654
  • 086 302 3383, 095 956 3287
  • tonchabubprint@hotmail.com, tonchabubprint@yahoo.com
  • โรงพิมพ์ ต้นฉบับ บริการงานพิมพ์ทุกชนิด ด้วยระบบออฟเซ็ท 4 สี
    Line Tonchabub
    ISO

การพิมพ์ฟอยล์เย็นดีกว่าการพิมพ์ฟอยล์ด้วยการใช้ความร้อนจริงหรือไม่?

การพิมพ์ฟอยล์ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ที่นิยมใช้กันในโรงพิมพ์โดยทั่วไปนั้นมีอยู่สองแบบ คือการพิมพ์ฟอยล์ด้วยความร้อน และ การพิมพ์ฟอยล์เย็น ทั้งนี้ไม่นับ การพิมพ์ฟอยล์เย็นแบบไม่ใช้แม่พิมพ์ระบบดิจิตอล เหตุเพราะว่าการพิมพ์แบบดิจิตอลนี้เหมาะกับงานพิมพ์จำนวนน้อยและการพิมพ์แบบข้อมูลแปรเปลี่ยน เนื่องจากไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านแม่พิมพ์แต่อย่างใด
    โรงพิมพ์ในเมืองไทยมีน้อยโรงมากที่จะมีระบบการพิมพ์ฟอยล์เย็น อาจจะเป็นเพราะ หน่วยพิมพ์ฟอยล์เย็นถ้าหากว่าไม่ติดตั้งมากับเครื่องพิมพ์ตั้งแต่ซื้อเครื่องใหม่ๆก็หาผู้แทนจำหน่ายติดตั้งและบริการในบ้านเราได้ยากจนถึงแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ และหน่วยพิมพ์นี้ก็เป็นเทคโนโลยีเฉพาะมีราคาสูงพอสมควร หากโรงพิมพ์ไม่มีงานรองรับมากเพียงพอก็ไม่คุ้มค่าการลงทุน ทำให้ความรู้เรื่องการพิมพ์ฟอยล์เย็นในบ้านเรามีอยู่น้อยมาก
    หลักการทำงานของการพิมพ์ฟอยล์เย็นนั้นธรรมดามาก คือ มีการใช้หน่วยพิมพ์เพลทออฟเซท หรือ สกรีน หรือ เฟล็กโซ ทำการพิมพ์ภาพกาว ยูวี ของพื้นที่ๆต้องการทำเป็นผิวฟอยล์ลงบนวัสดุชิ้นงาน จากนั้นส่วนที่เป็นกาวจะถูกฉายด้วยแสงยูวี เพื่อทำให้กาวมีความเหนียวคงที่ตามต้องการ จากนั้นแผ่นฟอยล์จะถูกนำมาวางลงบนผิวหน้าของวัสดุชิ้นงานและทั้งแผ่นฟอยล์กับวัสดุชิ้นงานถูกหนีบเข้าด้วยกัน แล้ววิ่งต่อไปพร้อมกัน(ดูภาพ 1) ม้วนฟอยล์เดินทางผ่านลูกกลิ้งดึงฟอยล์ออกวัสดุชิ้นงานก็จะเหลือฟอยล์ติดอยู่กับภาพกาวเป็นภาพผิวโลหะที่สมบูรณ์บนวัสดุชิ้นงาน
แม่พิมพ์ฟอยล์แบนราบ

ภาพ 1 -  ระบบการพิมพ์ฟอยล์เย็น


    คุณภาพการพิมพ์ฟอยล์เย็นอาจจะมีปัญหาจากกาวที่ถูกพิมพ์ลงไปไม่เพียงพอเนื่องจากวัสดุชิ้นงานดูดซับไป เป็นปัญหาที่ต้องระวัง ทำให้วัสดุชิ้นงานที่เป็นฟิล์มและมีความมันเงาเหมาะสมที่สุดสำหรับกระบวนการพิมพ์ฟอยล์เย็นและได้ผลลัพธ์ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการพิมพ์ด้วยความร้อน
    กาวที่ใช้ในการพิมพ์ฟอยล์เย็นจึงเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการและกาวที่ว่านี้มีอยู่สองชนิดด้วยกัน คือ ชนิด free radical และ ชนิด cationic 
    ระบบกาว cationic ได้รับความนิมใช้อย่างกว้างขวางเพราะมีมาก่อน แต่ภายหลังถูกพิสูจน์ว่าใช้ยากกว่าและต้องการช่างพิมพ์ที่เก่งมากถ้าหากต้องการได้ผลลัพธ์การพิมพ์ที่ดีเยี่ยม ทำให้ตอนนี้ระบบกาวที่เป็นที่ชื่นชอบคือ กาวชนิด free radical เหตุเพราะพิมพ์ได้ง่าย เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน และพิมพ์งานได้เสถียร
ข้อดีและข้อเสียของการพิมพ์ฟอยล์ร้อนกับการพิมพ์ฟอยล์เย็น
การพิมพ์ฟอยล์ร้อน
    ข้อดี

-    การปั๊มฟอยล์ด้วยความร้อนจะได้สีฟอยล์สะท้อนแสงได้ดีมีความสว่างมากกว่า
-    การปั๊มฟอยล์ด้วยความร้อนได้คุณภาพหลากหลายกว่า รวมทั้ง holographic ด้วย
-    การปั๊มฟอยล์ด้วยความร้อนเหมาะสำหรับการพิมพ์ฟอยล์และดันนูนพร้อมกันในปั๊มครั้งเดียว
ข้อเสีย
-    การพิมพ์ฟอยล์ร้อนนั้นมีค่าแม่พิมพ์และค่าความร้อนทำให้ค่าใช้จ่ายในการพิมพ์สูง
-    เวลาที่ใช้ในการเตรียมพิมพ์ฟอยล์ร้อนนั้นยาวกว่าการพิมพ์ฟอยล์เย็น โดยปกติแล้วแม่พิมพ์ต้องสั่งทำจากภายนอกโรงพิมพ์
-    มีขั้นตอนในสายการผลิตมากกว่า
การพิมพ์ฟอยล์เย็น
    ข้อดี

-    หน่วยการพิมพ์ฟอยล์เย็นสามารถถูกติดตั้งเพิ่มเข้ากับเครื่องพิมพ์ที่มีอยู่แล้วได้ง่ายกว่า
-    การพิมพ์ฟอยล์เย็นไม่ต้องใช้แม่พิมพ์แมกนีเซียม ทองแดง หรือ ทองเหลือง
-    มันต้องการเพียงภาพที่ถูกพิมพ์ธรรมดาเพื่อจัดเตรียมพื้นที่ติดฟอยล์
-    เครื่องที่ใช้พิมพ์ฟอยล์เย็นทำงานได้เร็วกว่าการปั๊มฟอยล์ด้วยความร้อน
-    เมื่อทำการพิมพ์เป็นสายการผลิตแล้ว การรีจิสสเตชั่นระหว่างงานพิมพ์และพื้นที่ๆถูกพิมพ์ฟอยล์มีความเที่ยงตรงสูงมาก
-    กระบวนการพิมพ์ฟอยล์เย็นมีค่าใช้จ่ายในการตั้งเครื่องถูกกว่าการตั้งเครื่องการปั๊มด้วยความร้อน
-    สามารถพิมพ์ฟอยล์แบบฮาล์ฟโทนได้
ข้อเสีย
-    การพิมพ์ฟอยล์เย็นให้ภาพที่ถูกพิมพ์ด้วยฟอยล์ที่มีรายละเอียดที่เล็กมากๆไม่เท่าที่ได้รับจากการพิมพ์ฟอยล์ร้อน
-    ผลลัพธ์ของการพิมพ์ฟอยล์เย็นไม่สุกสว่างและสะท้อนแสงได้ดีเหมือนการพิมพ์ฟอยล์ด้วยความร้อน
-    ฟอยล์ที่มีสีเข้มมักไม่ถูกแนะนำให้ใช้กับการพิมพ์ฟอยล์เย็น
เราคงพอได้ข้อสรุปว่าทั้งการพิมพ์ฟอยล์เย็นและการพิมพ์ฟอยล์ด้วยความร้อนต่างมีดีและมีเสียแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าโรงพิมพ์ไหนมีงานชนิดไหนเหมาะกับการพิมพ์แบบไหนมากกว่า ส่วนคุณลูกค้าคงจะมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการเลือกกระบวนการพิมพ์ได้น้อยมาก เนื่องด้วยแต่ละโรงพิมพ์มีเครื่องไม้เครื่องมือแตกต่างกันออกไป คงไม่ครอบคลุมให้สามารถมีตัวเลือกได้หลากหลายเพียงพอ